August 14, 2007

สำนักสงฆ์ศิลาอาสน์ อ.เมือง จังหวัดชัยภูมิ



ประวัติพระเจ้าองค์ตื้อ

เขาภูพระ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เนื่องด้วยกรมศิลปากรได้ประกาศทะเบียนโบราณวัตถุสถาน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2478 เป็นต้นมา ภายหลังได้กำหนดขอบเขตที่ดินเป็นเขตโบราณสถานตามที่เห็นสมควรว้ด้วย เพื่อป้องกันมิให้ทำลายโบราณสถาน ที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดต่าง ๆ คือ
ที่ตั้ง เลขที่ 2 ภูพระ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม 2479 พระพุทธรูปปางมารวิชัย จำหลักที่ผนังหินบนเนินเขาองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 4 ศอก เรียกกันว่า "พระเจ้าองค์ตื้อ"
ภูพระเป็นชื่อภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 12 ก.ม. ที่ผนังภูพระจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้างวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์ หน้าตักกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต เรียกว่า "พระเจ้าองค์ตื้อ" และรอบ ๆ พระพุทธรูปองค์นี้มีรอยแกะหินเป็นรูปพระสาวกอีกหลายองค์ สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในสมัยรุ่นราวคราวเดียวกับปรางค์กู่ก็เป็นได้ พระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 ถึง 19 (ราว พ.ศ. 1701 - พ.ศ. 1900)



พระเจ้าองค์ตื้อ

ทางราชการจังหวัดชัยภูมิสอบถามคนรุ่นเก่าซึ่งรับรู้เรื่องราวสืบต่อ ๆ กันมานับเป็นร้อย ๆ ปีว่า มีผู้พบพระเจ้าองค์ตื้ออยู่ในป่าที่เขาแห่งหนึ่งจึงมีผู้ตั้งชื่อเขานี้ว่า "เขาภูพระ" ทุก ๆ ปีจะมีผู้ไปไหว้พระเจ้าองค์ตื้อในกลางเดือนห้าเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนต่างจังหวัดด้วย เนื่องจากผู้เลื่อมใสว่าหมอรักษาเป็นหมอลำให้การรักษาคนป่วยขอให้หาย โดยบนบานต่อพระเจ้าองค์ตื้อก็ได้สมปรารถนาซึ่งมีข้าราชการผู้ใหญ่ในปัจจุบันก็เป็นลูกที่ขอจากองค์ท่าน
ในปี พ.ศ. 2483 พระวิบูลนิโรธกิจ อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ (พระครูจรูญนิโรธเจ้าคณะจังหวัดขณะนั้น) ได้ขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ ศิลาอาสน์ และแผ้วถางบริเวณให้เตียน ในปีถัดไปได้สร้างเป็นกุฏิ มีพระภิกษุอยู่ประจำมาตลอดจนทุกวันนี้
การจัดงานประจำปีมีผู้ไปช่วยทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์เป็นประจำมาจนถึงพระครูวิบูลเขมวัตร เป็นเจ้าอาวาสประมาณ พ.ศ. 2498 - 2505 ได้มีการตั้งกรรมการจัดงานประจำปีมีรายได้สุทธินำมาทำกำแพงฉาบหินกับซีเมนต์ไม่มีโครงเหล็กทั้ง 4 ด้าน ๆ ละ 13 เมตร ล้อมองค์พระอยู่ตรงกลางซึ่งมีระดับหินต่ำกว่ากำแพงที่ทำ (ได้รื้อกำแพงเพื่อทำการก่อสร้างใหม่)
พ.ศ. 2505 เริ่มตั้งแต่เข้าปุริมพรรษา มีพระวชิรญาณ (วิเชียร สาคะริชานนท์) ซึ่งอุปสมบทที่วัดชัยประสิทธิ์ หลังจากพระราชทานเพลิงศพ หลวงจงวิชาเชิด โยมบิดามาจำพรรษาตามที่พูดไว้จัดผ้าป่าเดือนพฤศจิกายน 2505 มีญาติโยมมาทอดผ้าป่าได้เงิน 10,000 บาทเศษ ได้ล้อมรั้ววัดซึ่งเดิมไม่มีอาณาเขต ชาวบ้านทำไร่รุกเข้าไปจนถึงเชิงเขา ได้ขยายอาณาเขตออกไปถึง 196 ไร่ ได้ล้อมเสร็จ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2506 ก่อนลาสิกขาบท



พระพุทธรูปแกะสลักหินอยู่ใกล้พระเจ้าองค์ตื้อ

เมื่อปี พ.ศ. 2515 พระราชชัยมุนี (พระวีรชัยมุนี) ได้ปรึกษากับคณะกรรมการที่ท่านตั้งเพื่อพิจารณาสร้างศาลาจตุรมุขฯ เพราะมีเงินอยู่แล้ว 100,000 บาทเศษ จึงทำเรื่องขอแบบแปลนไปยังกรมศิลปากร กรมศิลปากรได้เขียนแบบแปลนส่งมาให้คณะกรรมการมีมติให้ทำการสร้างศาลา (วิหาร) ดังกล่าว
วันที่ 7 เมษายน 2516 นายสำราญ บุษปวนิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์และขอรับงานบูรณะก่อสร้างศาลาจตุรมุขพระเจ้าองค์ตื้อเป็นทางราชการคณะกรรมการได้ทำการก่อสร้างมาแต่บัดนั้น
วันที่ 11 ธันวาคม 2516 นายอนันต์ อนันตกูล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการก่อสร้างศาลาจตุรมุข (วิหาร) พระเจ้าองค์ตื้อ 29 ท่าน ให้ดำเนินการหาเงิน และควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามเจตนาของชาวชัยภูมิ ท่านได้เร่งรัดเส้นทางไปยังเขาภูพระซึ่งมีพระเจ้าองค์ตื้อเป็นปูชนียวัตถุ คือ ทางเข้าบ้านนาเสียวไปภูพระเลยไปบ้านนาไก่เซา และท่านได้หาเงินมาให้ก่อสร้าง 50,000 บาทเศษ
เมื่อนายเจริญศุข ศิลาพันธ์ มอบหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิก็ดำเนินการเรื่องนี้ต่อจากท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้หาเงินมาสมทบสร้างศาลาจตุรมุขฯ มากกว่า 30,000 บาท ได้แต่งตั้งจาก ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และผู้ที่คนทั่วไปให้ความนับถือเป็นกรรมการหาเงินก่อสร้างศาลา (วิหาร) จตุรมุขพระเจ้าองค์ตื้อ 88 คน เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างสำเร็จ วันที่ 12 พ.ศ. 2520



หลวงปู่ จิรชัย ฉันทธัมโม เจ้าอาวาส


คณะผู้จัดทำแผ่นพับเผยแพร่
นายสุวรรณ รัฐกุล
นางจรรยา วัชรพิบูลย์
นายประจักษ์ เหล่าวรรธนะกูล
นายอุทัย ดำวิสัย
นายอดิศร จำลองเพ็ชร

No comments: